ประวัติเทศมหาชาติ

มหาชาติ คือชาติที่ยิ่ง ใหญ่เป็นชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้าก่อนที่จะมาอุบัติตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ในชาติปัจจุบัน  รวมอยู่ในพระเจ้าสิบชาติ แต่คนนิยมฟังกันเป็นประเพณีเฉพาะตอนเป็นมหาชาติคือ เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรเท่านั้น เพราะสังคายนาจารย์ทั้งหลายได้ กล่าวอานิสงส์แห่งการสร้างหรือฟังมหาเวสสันดรชาดกไว้ว่า
              “สังคายนาจารย์เจ้าทั้งหลายกล่าวดั่งนี้แล้ว  ก็กล่าวคาถามาว่า  “ปูชา  ปาเก เตชยนติ  ทุคคติ  เตน ปุญญสส  ปาเก  “ ดังนี้ว่า อันว่าคนทั้งหลายฝูงใด ได้บูชามหาเวสสันดรชาตก ผู้นั้นก็จะได้ เป็นเจ้าพระยาในเมืองคน ยศประวารบ่จนมีมาก  ชางม้าหากเนืองนันต์  มีกลองนันทเภรีเก้าพันลูก  เปี๊ยะพิณผูกเก้าพันเสียง  สัททะสำเนียงชมชื่น  สนุกต้องตื่นทุกรวายตรีทิวา  ทาสีทาสามีมาก พร้อมอยู่แวดล้อมเฝ้าปฏิบัติ   ทิพพสัมปัตติล้ำเลิศ   ก็กลับเกิดมีตาม   เล้มเงินเล้มคำและเสื้อผ้า   ทั้งช้างม้าและเปลือกเข้าสาร    ก็จักมีตามปรารถนาทุกเมื่อ  จำเริญเชื่อมงคล  ยถา ในกาลเมื่อใดพระศรีอริยเมตไตรยมาตรัสประยาและปัญญา  เป็นพระพายหน้าบุญแก่กล้าก็จักได้หันหน้าท่านบ่สงสัย  เหตุได้เป็นปาเถยยะกับธัมม์เวสสันตระชาตกะ  อันยกมาที่นี้แล้ว  ก็จักเถิงเซิ้งเวียงแก้วยอดมหาเนรพาน  บ่อย่าชะแล”
             คัดมาจากธรรมอานิสงฆ์สร้างมหาเวสสันตรชาดก ของล้านนาไทยซึ่งโบราณาจารย์ท่าน ได้แต่งไว้อีกประการหนึ่งท่านกล่าวว่า  “ บุคคลใดตั้งใจฟังธรรมมหาชาติจนจบ  13 กัณฑ์  ภายในวันหนึ่งคืนหนึ่ง ท่านว่าผู้นั้นจะวุฒิจำเริญด้วยสมบัตินานาประการใน ปัจจุบัน และจะได้เกิดร่วมศาสนาพระศรีอริยเมตไตรยในอนาคตไม่ต้องสงสัย
                ในคัมภีร์มาลัยสูตรก็กล่าวเป็นใจความว่า  “เมื่อครั้งมหาเถรขึ้นไปนมัสการพระเกศแก้วจุฬามณีในชั้นดาวดึงษ์นั้น  ได้พบพระอริยเมตไตรยเทพบุตร  ท่านก็ได้สั่งมหาเถรเจ้ามาว่า  “ให้คนทั้งหลายฟังธรรมมหาชาติให้จบทั้ง  ๑๓ กัณฑ์ในวันเดียวคืนเดียว แล้วจะได้ร่วมกับศาสนาของเรา” ดังนี้ เมื่อพระ มหาเถรเทพมาลัยกลับจากสวรรค์แล้วก็นำเรื่องนี้มาบอกกับชาวโลกคนทั้งหลายได้ ฟังก็เลยพากันฟังเทศน์มหาชาติจนถือเป็นประเพณีมา”     
                เพราะความนิยมที่คนชอบชาดกเรื่องนี้มาก  จึงเกิดมหาชาติล้านนาไทยสำนวนต่าง ๆขึ้นประมาณ  ๑๒๐  สำนวน ส่วนมากแต่งมาตั้งแต่สมัยพระเจ้ากือนา (พ.ศ.  ๑๙๑๐-๑๙๔๓)    และแต่งในสมัยต่อ ๆ มา จนถึง พ.ศ. ๒๓๐๐ ในสมัยพระเจ้ากาวิละต้นรัตนโกสินทร์ ได้มีนักปราชญ์ล้านนาไทยนำเอามหาชาติ สำนวนเก่ามาเกลาใหม่  เช่นฉบับอินทร์ลงเหลา  (เหลาแปลว่า  เกลา) ฉบับพระยาพื้น เป็นต้น